พิษภัยจากแบตเตอรี่

ปัจจุบันนี้ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ หากไม่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า ก็ต้องใช้พลังงานจากถ่าน หรือแบตเตอรี่ ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ของขนาดเล็กๆ เช่นไฟฉาย นาฬิกาข้อมือ ไปจนถึงของใหญ่ๆ จำพวกเครื่องมือสื่อสารต่างๆ รถยนต์ แต่ใครจะรู้ว่า ภายในแบตเตอรี่เหล่านี้แม้ว่าจะสามารถให้พลังงานกับเครื่องมือของเราได้แต่ก็มีโทษ หรือพิษภัยกับร่างกายของเราได้เช่นกัน สำหรับโทษภัยของสารเคมีที่ใช้ในการกำเนิดพลังงานในแบตเตอรี่นั้น มีดังต่อไปนี้

1. มักจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างเรื้อรัง ต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หากได้รับเอาสารพิษจำพวก สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท หรือกรดซัลฟิวริกเข้าสู่ร่างกาย อาจจะโดยการสูดเข้าไป หรือการปนเปื้อนผ่านทางอาหาร อาการแบบนี้มักพบในคนงานของโรงงานผลิตแบตเตอรี่

2. ในกรณีที่มีการทิ้งแบตเตอรี่ที่เสียหาย หรือไม่ได้รับการใช้งานอย่างไม่ถูกวิธี จะทำให้พิษที่สะสมอยู่ในแหล่งกำเนิดพลังงานของแบตเตอรี่นั้นไหลซึมลงสู่ดิน และอาจปนเปื้อนไปยังพืชผัก แม่น้ำ ลำคลอง รวมไปถึงผู้คน และสัตว์ต่างๆ ได้อีกด้วย อาการเจ็บป่วยที่จะตามมาคือ อาการเจ็บป่วยเรื้อรังจากสารโลหะหนักต่างๆ ที่อยู่ในแบตเตอรี่

3. หากมีการเผาทำลายแบตเตอรี่ อาจจะทำให้สารพิษนั้นกระจายเข้าสู่อากาศ โดยทางควัน ซึ่งทั้งคนและสัตว์จะได้รับสารพิษผ่านทางระบบหายใจโดยการสูดเอาควันพิษเข้าไป อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจึงมักจะเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ที่ร้ายแรงอาจเป็นมะเร็งและอาจถึงตายได้หากสูดเข้าไปมากเกินไป

ข้อแนะนำในสำหรับผู้ที่ใช้งานแบตเตอรี่
1. แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพเหลือแต่กาก ไม่ควรนำกลับมาประจุไฟใช้งานใหม่
2. ไม่ควรทิ้งถ่าน หรือแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วจนเหลือแต่กาก ลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำเป็นอันขาด
3. ไม่ควรนำกากแบตเตอรี่ หรือ ถ่านที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วไปเผาไฟ หรือทำลายด้วยความร้อนเป็นอันขาด
4. ไม่ควรสัมผัสกับกากแบตเตอรี่ หรือถ่านที่ใช้แล้วโดยตรงเด็ดขาด หากจำเป็นควรสวมถุงมือในการป้องกัน
5. แยกประเภทของกากแบตเตอรี่ หรือถ่านที่ไม่ใช้งานแล้วให้อยู่ในหมวดหมู่ “ขยะเคมี” โดยเฉพาะ และกำหนดการฝัง หรือทำลายอย่างถูกหลัก
6. ในระหว่างการฝังหรือทำลาย ควรสวมเครื่องมือป้องกันเช่น หน้ากาก ถุงมือด้วยทุกครั้ง

จะเห็นได้ว่า แบตเตอรี่นั้นมีส่วนที่เป็นสารเคมี ซึ่งจะเป็นตัวกำเนิดพลังงานอยู่ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เองที่เป็นส่วนการสร้างสารพิษให้กับสิ่งแวดล้อมและสามารถตกค้างเข้าสู่ร่างกายของทั้งคนและสัตว์ได้ง่าย ดังนั้น ควรที่จะต้องหาวิธีการทำลายอย่างถูกต้อง รวมไปถึงระมัดระวังทั้งในการใช้งานและการทำลายด้วยครับ