ลดการใช้สารเคมีด้วยหลักการ Green Chemistry

ปัจจุบันไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนก็แล้วแต่ ล้วนมีข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นส่วนประกอบของสารเคมีทั้งนั้น ไล่มาตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า เครื่องไม้ใช้สอยต่างๆ ซึ่งบางครั้งข้าวของพวกนี้นั้นก็อาจก่อให้เกิดผลเสีย หรือพิษภัยต่อสภาพแวดล้อมได้เช่นกันเมื่อมันกลายเป็นขยะ หรือถูกทิ้งด้วยความมักง่าย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงได้มีแนวคิดของหลักการ Green Chemistry ขึ้นมาเพื่อลด และยับยั้งผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมโดยสารเคมีตั้งแต่กระบวนการผลิต หลักการของ Green Chemistry นั้นมีดังต่อไปนี้

1. ควรทำการป้องกันของเสีย ขยะ หรือมลพิษเสียก่อที่มันจะเกิดขึ้นแล้วไปบำบัดเอาภายหลัง เนื่องจากการบำบัดนั้นให้ผลได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

2. เมื่อมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ ควรที่จะทำการสังเคราะห์ เพื่อที่จะใช้เครื่องมือ และวัสดุทุกประเภทอย่างสมเหตุสมผล คุ้มค่า และได้รับประโยชน์มากที่สุด และในขั้นตอนการสังเคราะห์นั้น ควรออกแบบให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้น้อยที่สุด

3. หากเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่มีการออกฤทธิ์ ควรศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำการออกแบบให้มีการลดความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

4. ควรลดการใช้พลังงานในการผลิต และในกระบวนการควรที่จะศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ เศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน และกระบวนการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์นั้นควรทำที่อุณหภูมิและความดันปกติ

5. ไม่ควรใช้สารประเภทตัวทำละลาย ตัวแยก แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ ควรเลือกเป็นสารที่ไม่มีอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

6. ควรหลีกเลี่ยงอนุพันธ์ที่ไม่จำเป็น เช่น blocking group, protection, deprotection temporary modification of physical, chemical process

7. วัตถุดิบตั้งต้น ควรหาทางนำกลับมาใช้ใหม่ ดีกว่าทิ้งไป ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

8. ควรใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อสามารถเลือกได้ แทนการใช้สารตามปริมาณสัมพันธ์ (stoichiometric reagent)

9. การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ควรเน้นไปที่การออกแบบสารที่เมื่อไม่ได้ใช้งานแล้วจะสลายตัวไปเอง หรือไม่คงความเป็นพิษ หรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลัง

10. ในระหว่างกระบวนการผลิต ควรศึกษา และทำการวิเคราะห์ เพื่อเป็นการตรวจสอบและการควบคุม ในระหว่างการเกิดปฏิกิริยา ก่อนที่จะมีสารอันตรายเกิดขึ้นจากการผลิต

11. ในระหว่างกระบวนการผลิต ควรเลือกที่จะใช้สารประเภทที่ออกแบบมาให้มีความปลอดภัย และถูกออกแบบมาสำหรับขั้นตอนทางเคมีโดยเฉพาะ ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุสุดวิสัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การระเบิด สารเคมีรั่วไหล หรือเกิดเพลิงไหม้จากสารเคมี เป็นต้น

12. การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางเคมี ผู้ที่ออกแบบจำเป็นจะต้องมีทักษะ และความชำนาญด้านเทคนิคโดยเฉพาะ

ตัวอย่างของ Green Chemistry คือโรงงานทอผ้า ที่เริ่มจะหันมาใช้สารเคมีประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนที่จะใช้งานสารเคมีประเภทเดิมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับการปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น