ดีวีดี จากแป้งข้าวโพด

มีการใช้แป้งข้าวโพดในการผลิตเป็นพลาสติกสำหรับใช้งานกันบ้างแล้ว ก็ถุงก๊อบแก๊บที่ตามห้างต่างๆใช้ใส่ของโดยเฉพาะในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยจะเป็นถุงสีต่างๆแล้วมีพิมพ์ไว้ว่าย่อยสลายได้นั่นเอง พลาสติกที่ทำจากแป้งข้าวโพดนี้มีชื่อเป็นทางการว่า Polylactic Acid หรือ PLA

ดีวีดีจากแป้งข้าวโพด
ดีวีดีจากแป้งข้าวโพด

เจ้า PLA นี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท ไบโอพลาสติก ซึ่งก็คือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ปัจจุบันมีการนำ PLA ไปทำของใช้หลายอย่าง เช่น กล่องใส่อาหารสดแบบใส จาน ชาม ถ้วย น้ำเย็น ที่ต้องใส่น้ำเย็นเพราะเจ้าพลาสติกชนิดนี้ทนความร้อนได้เพียง 60 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการใช้งาน ทำให้ไม่แพร่หลาย แต่ก็มีโรงงานขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Mitsui Chemical ของญี่ปุ่นกับบริษัท Cargill Dow ผลิตมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ใช้ชื่อการค้าว่าพลาสติก LACEA

แต่แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์หัวใสผู้ไม่เคยหยุดยั้งการคิดค้น ก็ได้ทำการวิจัยโดยการ นำเอาเนื้อเยื่อกระดาษมาผสมกับเจ้า PLA ได้พลาสติกชนิดใหม่ที่มีความแข็งแรงและทนทานเพิ่มขึ้น 1.8 เท่าและทนความร้อนได้สูงขึ้นถึง 120 องศา เหมาะมากในการนำทำอะไหล่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และในปัจจุบันก็มีการทำแผ่น DVD จากพลาสติกแป้งข้าวโพดผสมเยื่อกระดาษนี้ด้วย อ้อ…แต่ต้องขอบอกเพิ่มเติมอีกสักหน่อยว่า ไม่ใช่ว่า จะเอาเยื่อกระดาษอะไรมาใช้ก็ได้ ต้องเป็นที่มาจากเยื่อไม้ Kanaf จากออสเตรเลียเท่านั้น

นอกจากแป้งข้าวโพดแล้ว แป้งมันสำปะหลังก็นำมาผลิตไบโอพลาสติกได้ ประเทศไทยก็มีการปลูกทั้งข้าวโพดและมันสำปะหลังกันอย่างมากมาย และก็มีการซื้อขาย DVD กันออกครึกครื้น น่าจะเป็นอีก หนึ่งช่องทางในการก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้ แต่คงต้องนำเข้าเยื่อไม้มาจากออสเตรเลีย อาจไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง ก็คงต้องให้นักวิจัยชาวไทยลงมือศึกษากันสักตั้งว่ามีเยื่อไม้ไทยๆ ของเราอะไรบ้างใช้แทนกันได้ ซัง ข้าวโพดหรือใบมันสำปะหลัง ก็น่าลองดู จะได้ไม่มีของเหลือทิ้งเลย

 

เรียบเรียงจากบทความ “ไบโอพลาสติก โอกาสใหม่ทางการค้า” วารสารพลาสติกกับสิ่งแวดล้อม ปีที่ 8 ฉบับที่ 29 ประจำเดือน กรกฎาคม-กันยายน 2548 หน้า 9-10