ประเภทของสารเคมีกำจัดแมลงทางการเกษตร

สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการกำจัดแมลงทางการเกษตรนั้น ต่างจากสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลงในตัวอาคารหรือบ้าน ทั้งนี้เพราะแบบหลังถูกออกแบบมาไม่ให้ออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ยาฆ่าแมลงในพืชไร่นั้น เป็นสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดแมลงโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่นั้นออกฤทธิ์รุนแรงทั้งกับแมลงและมนุษย์ รวมไปถึงสัตว์อื่นๆอีกด้วย สำหรับสารเคมีประเภทนี้นั้นมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ

การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง
การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง

1.    สารเคมีกลุ่มออร์กาโนคลอไรด์ หรือสารเคมีที่มีส่วนผสมหลักเป็นของคลอรีนเป็นสารเคมีที่นิยมใช้กันมาก ทั้งนี้เพราะสารในกลุ่มนี้จะเป็นการออกฤทธิ์ไม่เลือกชนิดของแมลง คือเป็นพิษต่อแมลงทุกประเภท นอกจากนั้นยังเป็นสารที่สลายตัวค่อนข้างช้า และมีฤทธิ์ตกค้างทั้งในดินและผลผลิตค่อนข้างสูง ปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้ยกเลิกการใช้งานหรือจำกัดควบคุมไม่ให้มีการใช้งานกันอย่างกว้างขวางอีกต่อไป เพราะมีผลกระทบต่อระบบห่วงโซอาหารค่อนข้างมาก และเป็นอันตรายโดยตรงต่อมนุษย์ น้ำยาในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันก็ DDT เป็นต้น

2.    สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต หรือสารเคมีที่มีส่วนผสมของฟอสฟอรัส ออกฤทธิ์รุนแรงกับแมลงทุกชนิดรวมไปถึงยังเป็นพิษต่อสัตว์อื่นๆ อีกด้วย ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มแรกมากนัก(ฤทธิ์นั้นรุนแรงกว่ากลุ่มแรกมาก) แต่มีการตกค้างที่น้อยกว่า และสามารถสลายตัวได้ดีกว่ากลุ่มแรก สารเคมีในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีก็เช่น อาซินอน , พริริมิฟอสเมทิล เป็นต้น

3.    สารเคมีกลุ่มคาร์บาเมต หรือสารที่มีส่วนผสมของคาบาริว เป็นหลัก สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรุนแรงเช่นกัน แต่ไม่มีพิษตกค้างมากเท่าสองแบบแรก และจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสารกำจัดแมลงศัตรูพืชในกลุ่มนี้คือ ไม่ค่อยมีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่ากับสองแบบแรก จะเน้นไปที่การออกฤทธิ์สำหรับแมลงต่างๆ มากกว่า สารในกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ คาบาริว คาบาฟุแรน เป็นต้น

4.    สารเคมีกลุ่มไพรีทรอย หรือสารเคมีที่สกัดมาจากส่วนของพืช กลุ่ม ไพริทรัม สามารถออกฤทธิ์กับแมลงได้อย่างรุนแรง แต่มีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นต่ำที่สุด และยังมีส่วนของสารตกค้างน้อยที่สุดอีกด้วย ข้อเสียของสารเคมีกลุ่มนี้คือ มีราคาที่ค่อนข้างแพง ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในการเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องมีการลดต้นทุนในทุกๆ ด้านให้มากที่สุดนั่นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีประเภทใด ล้วนแล้วแต่อันตรายกับผู้ใช้งานด้วยกันทั้งนั้น มากน้อยว่ากันไป ดังนั้นก่อนการใช้งาน ควรรู้จักวิธีการใช้งาน โดยอ่านจากคู่มือหรือสลากข้างบรรจุภัณฑ์ให้ดีเสียก่อน รวมไปถึงไม่ควรใช้งานแบบผิดประเภทด้วยครับ