สาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะ

มลภาวะ หมายถึงสิ่งที่เป็นพิษ หรือมลพิษที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม หรืออาจหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เจือปนด้วยสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ โดยมากมักจะเกิดมาจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ถูกวิธี และไม่ระมัดระวังมากจนเกินไป จนส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ดิน แม่น้ำ ลำคลอง รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย สำหรับต้นเหตุของมลภาวะนั้น จึงพอจะแบ่งได้จากปัจจัยต่อไปนี้

1. เกิดจากการใช้ชีวิตของผู้คน บ้านเรือน ซึ่งมักจะเป็นของเสียหรือน้ำเสียที่มาจากการใช้ชีวิต เช่น การซัก หรือการชำระล้าง การอาบน้ำ ของเสียจากระบบส้ม เป็นต้น เมื่อน้ำเสียเหล่านี้ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ก็มักจะทำให้สภาพของแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย เนื่องจากน้ำเสียจะเป็นตัวกำจัดออกซิเจนออกไปจากแม่น้ำลำคลองนั่นเอง

2. โรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นส่วนสำคัญในการปล่อยน้ำเสีย ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำเสียในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ นั้นมักจะมีปริมาณของสารพิษร้ายแรง และของเสียมากกว่าน้ำเสียที่พบได้ในครัวเรือน นอกจากนั้นบางโรงงานที่ไร้จิตสำนึกยังมักจะปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำโดยไม่มีการบำบัดอีกด้วย น้ำเสียเหล่านี้จึงเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้แม่น้ำลำคลองนั้นเกิดการเน่าเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3. การทำเกษตร ก็เป็นอีกภาคหนึ่งที่มีการทิ้งน้ำเสีย ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย แม้ว่าจะไม่มีความสกปรกเท่าโรงงานอุตสาหกรรม แต่ภาคการเกษตรนั้นเน้นการใช้สารเคมีต่างๆ ทำให้เกิดการถ่ายเท ไหลซึมของสารเหล่านี้ซึ่งยังคงตัวติดค้างอยู่ตามแปลงเกษตร เข้าสู่แม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ และก่อให้เกิดเป็นมลภาวะได้ในที่สุด

4. ผิวดินที่เสื่อมสภาพ ซึ่งอยู่ริมคลอง ริมตลิ่ง และเกิดการพังทลายลงสู่แหล่งน้ำ ก็มักจะทำให้น้ำนั้นมีการขุ่น มีตะกอนที่เกิดความผิดปก เช่น สี รส ที่แปลกไปได้ รวมถึงสารเคมีอาจติดค้าง หรือตกตะกอนอยู่กับผิวดินอีกด้วย

5. ปศุสัตว์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงหมู มักจะมีของเสียอันเกิดจากปฏิกูลของหมูเป็นจำนวนมาก ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งเมื่อมีจำนวนมาก ก็ไม่สามารถที่จะบำบัดได้อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค และสารจุลินทรีย์ต่างๆ ภายในลำคลอง และเกิดเป็นการเน่าเสียในที่สุด

6. การใช้ดินแบบขาดการควบคุม เช่น การนำเอาดินจากริมตลิ่งมาใช้งาน อาจก่อให้เกิดผลภาวะได้เช่นกัน คือจะมีส่วนของตะกอน ขยะ รวมถึงสิ่งปฏิกูลมากมายที่ไปติดอยู่ตามซอก หรือส่วนของดินที่ขุดไปใช้งาน เป็นต้น

มลภาวะนั้น แม้ว่าเกิดขึ้นมาแล้ว จะแก้ไขได้ยาก แต่เราก็สามารถที่จะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการกระตุ้นจิตสำนึกของภาคส่วนต่างๆ ให้หันมาสนใจปัญหาของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นครับ